มีมติไฟเขียวมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ

สิ้นสุดการรอคอยสำหรับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง เมื่อคณะครม.ได้มีมติไฟเขียวมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ

ไฮไลท์ของมาตรการดังกล่าวคือการปล่อยสินเชื่อบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อยจาก ธอส., การปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับผู้ซื้อบ้านทั้งเก่าและใหม่ รวมไปถึงการที่ผู้ที่กู้ซื้อบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ยังสามารถนำ 20% ของราคาบ้านมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นระยะเวลา 5 ปีภาษี โดยมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามในร่างประกาศดังกล่าว

ได้มีมติเห็นชอบมาตรการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญที่มีผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั่นคือ มาตรการสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 มาตรการย่อย ได้แก่

1. มาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ให้สามารถกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในวงเงินที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยผู้ที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยวงเงินของโครงการดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท และ ธอส.สามารถเพิ่มวงเงินได้ตามความเหมาะสม และมีกำหนดระยะเวลารับคำขอและการดำเนินการ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2558 และให้ ธอส. สามารถขยายระยะเวลาได้ตามความเหมาะสม โดยมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 30 ปี และผู้กู้จะต้องมีรายได้สุทธิไม่เกิน 30,000 บาท/ เดือน

2. มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และค่าธรรมเนียมการจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% โดยไม่จำกัดมูลค่าของบ้าน อย่างไรก็ดี มาตรการนี้เป็นมาตรการระยะสั้นที่มีระยะเวลาเพียง 6 เดือน

3. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับรายได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นจำนวน 20% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะเวลา 5 ปีภาษี โดยให้แบ่งใช้สิทธิเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีภาษี ซึ่งจะต้องเป็นการซื้ออสังหาฯ และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นับตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบ- 31 ธันวาคม 2559 และผู้ที่ขอลดหย่อนภาษีจะต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาฯ ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาฯ ใดๆ มาก่อน

โดยหลังจากที่มีการประกาศมาตรการดังกล่าว เชื่อว่าจะสร้างความคึกคักให้กับตลาดอสังหาฯ ของไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ยาวไปจนถึงช่วงปีหน้าได้อย่างแน่นอน